จะรู้ได้อย่างไร? ว่าร่างกายกำลังมีน้ำตาลมากเกินไป
มาสำรวจตัวเองกัน หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้
◽หิวน้ำบ่อย
◽หิวตลอดเวลา
◽หงุดหงิดง่าย
◽ เพลียและง่วงงัวเงียบ่อย
◽ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
◽ตาพร่ามัว ตาเบลอ
.
อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจกำลังบ่งชี้ว่า คุณกำลังมีความเสี่ยง “ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง” (Hyperglycaemia) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มากกว่า 99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง และเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง เป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะนี้และไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ จนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้ค่ะ
.
โดยสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ภาวะนี้เกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การติดเชื้อมีไข้ การเป็นโรคเกี่ยวกับตับอ่อน หรือการรับประทานยาบางชนิด
.
จากการสำรวจของกรมอนามัยและ สสส. พบว่าคนไทยส่วนใหญ่มักบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา หรือก็คือเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึงกว่า 3 เท่า! ด้วยเหตุนี้ อัตราผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงติดอันดับ 3 โรคเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งมักบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อาจจะด้วยวิถีการใช้ชีวิตที่ทำงานอย่างเคร่งเครียด จึงต้องการอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น ชาไข่มุก กาแฟใส่น้ำตาล น้ำเชื่อม หรือขนมหวานต่างๆ มากจนเกินพอดี
.
ดังนั้นเราจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงการบริโภคน้ำตาลให้มากนะคะ โดยเฉพาะเครื่องดื่มหรือขนมที่มีน้ำตาลสูง ลดได้ลด เลิกได้เลิก ยิ่งหากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุมากกว่า 40 ปี มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคเบาหวาน ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้